31 กรกฎาคม 2551

การปลูกสตอเบอรี่

การปลูกสตรอเบอรี่

ลักษณะทั่วไป
เป็นไม้ผลขนาดเล็กให้ผลผลิตในหนึ่งฤดู ผลสุกมีรสเปรี้ยวหวาน กลิ่นหอม สีแดง เป็นที่นิยมของผู้บริโภค เป็นพืชอยู่ในวงศ์ Rosaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Fragaria ananassa เป็นไม้พุ่มที่สูงจากผิวดิน 6-8 นิ้ว ทรงพุ่มกว้าง 8-12 นิ้ว ระบบรากดีมาก แผ่กระจายประมาณ 12 นิ้ว ใบแยกเป็นใบย่อย 3 ใบ มีก้านใบยาว ขอบใบหยัก ลำต้นสั้นและหนา ดอกเป็นกลุ่ม มีกลีบรองดอกสีเขียว 5 กลีบ กลีบดอกสีขาว 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียกระจายอยู่เหนือฐานรองดอก ผลเจริญเติบจากฐานรองดอก มีผลขนาดเล็ดคล้ายเมล็ดจำนวนมากติดอยู่รอบเรียกว่า “เอคีน (Achene)”

พันธุ์สตรอเบอรี่
การปลูกสตรอเบอรี่ในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือมีมานานพอสมควร แต่ สตรอเบอรี่ที่ปลูกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำ ผลเล็ก สีซีด และช้ำง่ายในปัจจุบันมีพันธุ์ที่เหมาะสมและปลูกได้ผลดี ผลผลิตสูงผลใหญ่ เรียว เนื้อแน่น สีแดงจัด รสชาติดี ใบย่อย ใบกลางเรียวหยักปลายใบใหญ่ ต้นใหญ่ ให้ผลผลิตยาวนาน พันธุ์ดังกล่าวเรียกกันว่าพันธุ์ “ไทโอก้า”

ความต้องการสภาพดินฟ้าอากาศ
ดินที่ปลูกสตรอเบอรี่ควรเป็นดินร่วนปนทราย ความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ในระหว่าง 5-7 ซึ่งเป็นดินที่สภาพเป็นกรดเล็กน้อยสตอเบอรี่ต้องการช่วงแสงต่ำกว่า 11 ชั่วโมง และอุณหภูมิหนาว-เย็น ในการติดดอกออกผล ถ้าอุณหภูมิยิ่งต่ำยิ่งทำการติดดอกออกผลดีขึ้น

การปลูกเพื่อต้องการผล
ควรปลูกในเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม โดยต้นอ่อนหรือไหลที่จะปลูกควรมีแขนไหลที่มีข้อติดด้วยการเตรียมแปลงปลูกทำนองเดียวกับแปลงปลูกผักคือ การปลูกต้องใช้ส่วนโคนของลำต้น
การติดดอกออกผล
เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลง และช่วงแสงสั้นเข้าซึ่งประมาณเดือนพฤศจิกายน สตรอเบอรี่จะเริ่มติดดอกและผลจะสุกหลังจากติดดอก 21-25 วัน ผลสตรอเบอรี่ระยะแรกจะมีสีเขียว และค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม มีรสเปรี้ยวปนหวาน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-3.5 ซม.ผลจะสุกมากที่สุดเดือนมีนาคม และจะหมดประมาณเดือนเมษายน - พฤษภาคม
การเก็บเกี่ยว
เนื่องจากผลสตรอเบอรี่ช้ำง่าย การเก็บเกี่ยวต้องคำนึงถึงระยะทางในการขนส่งสู่ตลาดถ้าระยะทางไกลต้องเก็บผลสุกหรือเห็นสีแดง 50% ซึ่งจะได้ผลแข็งสะดวกแก่การขนส่ง ถ้าระยะทางใกล้ควรเก็บผลสุกหรือสีแดง 75% เวลาที่เก็บ ควรเก็บตอนเช้า เมื่อเก็บแล้วไม่ควรให้ผลถูกแสงแดด ซึ่งจะทำให้ผลเน่าเร็วควรเก็บทุก 1-2 วัน
การบรรจุและขนส่ง
เนื่องจากผลสตรอเบอรี่บอบช้ำง่าย โดยเฉพาะถ้าเส้นทางคมนาคมไกลและไม่ดีเท่าที่ควร การบรรจุผลสตอเบอรี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ภาชะนะที่บรรจุจะต้องไม่มีส่วนที่แหลมคมซึ่งจะทำให้ผลเสียหาย การวางผลจะต้องวางไม่เกินสองชั้น ถ้าพบว่ามีผลเสียควรคัดออกทันทีเพื่อป้องกันผลข้างเคียงพลอยเน่าเสียหายไปด้วยในกรณีเส้นทางคมนาคมลำบากไม่สามารถขายผลสดจำเป็นต้องขายผลช้ำ ต้องตัดหัวขั้วและส่วนที่เน่า แล้วบรรจุในปี๊บที่ภายในรองด้วยถุงพลาสติก ถ้าระยะทางไกลจากตลาดมากหรือจำเป็นต้องเก็บผลสตรอเบอรี่ไว้ค้างคืนการใส่น้ำตาลเพื่อรักษาคุณภาพของผล โดยใช้น้ำตาล 4 กก. ต่อผลสตรอเบอรี่ 10 กก.
การปฏิบัติหลังจากสตรอเบอรี่ให้ผลแล้ว
เมื่อถึงเดือนเมษายนต้นสตรอเบอรี่เริ่มหยุดให้ผล เนื่องจากอุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นช่วงแสงเริ่มยาวขึ้น ต้นสตรอเบอรี่จะเริ่มเจริญเติบโตด้านลำต้น กสิกรในพื้นราบมักจะขุดต้นสตรอเบอรี่ทิ้งด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้.-
1. การดูแลรักษาต้นสตรอเบอรี่ข้ามปี ในสภาพที่อุณหภูมิสูงทำได้ยาก และเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง เนื่องจากต้นสตรอเบอรี่ไม่ทนต่อสภาพอากาศที่ร้อน และสภาพอากาศที่อุณหภูมิสูงโรคของสตรอเบอรี่ระบาดง่าย
2. เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินหลังจากปลูกสตรอเบอรี่หยุดให้ผล เช่น ปลูกผักหรือพืชไร่ซึ่งได้ผลตอบแทนสูงกว่า 3. การที่ทำลายต้นสตรอเบอรี่ เป็นการทำลายแหล่งเพาะเชื้อโรคของสตรอเบอรี่ได้ผลดี

24 กรกฎาคม 2551

การปลูกแอ๊ปเปิ้ล


ลักษณะทั่วไป

แอบเปิลเป็นไม้ผลเมืองหนาวประเภทผลัดใบ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดทางยุโรป แหล่งปลูกที่สำคัญ ๆ ของโลกคือทวีปอเมริกา ยุโรปทางแถบเอเซียก็มี เช่น โซเวียต จีน ญี่ปุ่นรวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ด้วย สำหรับประเทศไทยนั้นเพิ่งจะถูกนำเข้ามาปลูกไม่กี่ปีนี้เอง ลักษณะต้นและใบ เป็นไม้เนื้อแข็ง รูปร่างของยอดที่เจริญเต็มวัยจะแตกต่างไปตามชนิดและตามพันธุ์ โดยทั่วไปต้นแอปเปิลมีรูปร่างเกือบเป็นทรงกลม แต่บางพันธุ์ก็มีลักษณะสูงชลูด บางพันธุ์ก็มีลักษณะเป็นพุ่มแจ้ ใบเป็นใบเดี่ยวเขียวสลับกันและขอบเป็นหยัก ผลคล้ายชมพู่มีรอยเป็นปุ๋มทางด้านขั้นและก้นผล แต่ไม่ลึกนักมีสีผิวต่างกันตั้งแต่สีเหลืองคล่ำจนถึงน้ำตาลแดงเข้ม เนื้อมักจะมีสีขาวหรือขาวนวลซึ่งมีลักษณะหยาบ แอปเปิลเป็นพืชในสกุล Rosaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Malus domestica

สภาพดินฟ้าอากาศ

แอปเปิลเป็นไม้ผลเมืองหนาวที่ต้องการอากาศหนาวเย็นอันยาวนานโดยจะทำให้ระยะพักตัวยุติลง โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 60-85 องศาฟาเรนไฮต์ ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาฟาเรนไฮต์ จะเป็นอันตรายต่อระบบรากอย่างรุนแรง สำหรับดินที่เหมาะสมกับการปลูกแอปเปิลควรเป็นดินร่วนปนทรายมีความเป็นกรด-ด่างประมาณ 5.0-6.8 แต่แอปเปิลไม่ชอบดินที่มีน้ำขังบริเวณราก

พันธุ์แอ๊ปเปิ้ล

พันธุ์แอปเปิลมีประมาณ 2,000 พันธุ์ แต่ที่ดีและนิยมปลูกมีเพียง 4 พันธุ์ คือ1. พันธุ์แอนนา เป็นพันธุ์ที่ผสมขึ้นมาในประเทศอิสราเอลเมื่อผลแก่จัดจะมีสีเหลืองสดขนาดใหญ่ปานกลาง รูปผลค่อนข้างยาว2. พันธุ์ เอน เชเมอ ผลค่อนข้างกลมขนาดเล็กว่า แอนนา เล็กน้อย สีเหนืองจัด ทั้ง 2 พันธุ์นี้ปลูกที่ดอยอ่างขางเริ่มจะให้ผลแล้ว3. พันธุ์ โรม บิวตี้ เป็นพันธุ์ที่ปล่อยละอองเรณูหลังจากที่ออกช่อดอกเร็วที่จะสามารถรับเชื้อได้ ดังนั้น พันธุ์นี้จึงไม่มีประโยชน์ที่จะใช้เป็นตัวถ่ายละอองเรณูแก่พันธุ์อื่น ๆ ได้4. พันธุ์ แกลนด์ อเลกเซนเตอร์

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์แอปเปิลทำได้หลายวิธี เช่นการติดตา ตัดกิ่ง วิธีการทำก็เริ่มจากเตรียมต้นตอ ซึ่งอาจจะได้มาจากการตอนหรือปักชำ แต่มีวิธีการเตรียมต้นตอซึ่งจะได้จำนวนมากและระยะเวลารวดเร็วก็คือ ทำโดยปลูกแอปเปิลลงไปก่อน แล้วตัดต้นแอปเปิลให้เหลือแต่ตอ ตอจะแตกกิ่งก้านสาขาออกมามากมาย เราจึงใช้ดินกลบโคนต้น กิ่งเหล่านั้นก็จะแตกรากออกมา เมื่อรากออกดีแล้วก็ทำการขุดย้ายเอาไปปลูกต่อไป ต้นตอที่ใช้ในประเทศไทยคือพันธุ์ เอ็ม เอ็ม 106 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างแคระและสามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายและรวดเร็ว นอกจากนี้ก็ยังมีไม้ป่าที่ใช้เป็นต้นตอได้ดี เช่น มะขี้หนู กล้วยฤาษี ก่อ เป็นต้น

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษา

การปลูกแอปเปิลมีระบบการปลูกเป็น 2 แบบ คือ
1. ระบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า

2. ระบบแนวระดับในระบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าจะปลูกต้นไม้เป็นมุมฉากต่อกันอยู่แต่ละมุมของสี่เหลี่ยมผืนผ้า เหมาะสำหรับปลูกไม้แซมทำให้พรวนดินได้ 2 ทาง สะดวกในการดูแลรักษา และต้นแอปเปิลจะได้รับแสงแดดมากที่สุด
ส่วนระบบแนวระดับจะปลูกตามแนวระดับทางเดียวและมักจะคดเคี้ยวไปตามระยะทางห่างกันอีกด้านเป็นระยะจำกัด ระบบนี้ช่วยลดการสึกกร่อนของดินเหมาะกับพื้นที่ที่เป็นเนินเขาหรือที่ลาดชัน
การเตรียมดิน ก็เหมือนกับการปลูกไม้ผลทั่วไป โดยขุดหลุมขนาด 1x1x1 เมตร กองดินดินบนไว้กองหนึ่ง และดินชั้นล่างไว้อีกกองหนึ่ง นำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า ๆ เทใส่ลงไปขนาดพอ ๆ กับกองดินบน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันจากนั้นจึงค่อยเอาดินล่างกลบลงไปให้มีระยะสูงกว่าปากหลุมเล็กน้อย นำต้นตกลงปลูกได้แล้วกลบดินบริเวณโคนต้นให้แน่นพอควร
ระยะปลูกที่เหมาะสม 3x3 เมตร หรือ 4x4 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะได้ประมาณ 100-177 ต้น
ฤดูกาลที่ปลูก ควรทำในขณะที่อยู่ในช่วงพักตัว คือช่วงฤดูหนาว ซึ่งในช่วงนี้ต้นพืชจะได้รับการกระทบกระเทือนจากการขุดย้ายน้อยที่สุด

การตัดแต่งกิ่ง

การตัดแต่งกิ่งจะนิยมทำกันในช่วงที่ต้นแอปเปิลพักตัวคือในฤดูหนาว ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงที่แอปเปิลทิ้งใบจะสะดวกในการตัดแต่งกิ่งมาก

การห่อผล

แอปเปิลที่ปลูกอยู่เราใช้กระดาษห่อผลตั้งแต่เมื่อผลยังมีขนาดเล็กอยู่ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันแมลงที่อาจจะมาเจาะผลทำลายและการห่อผลยังช่วยให้สีผลแอปเปิลสวยสดกว่าด้วย

โรคและแมลง

การปลูกแอปเปิลในเมืองไทยขณะนี้มีศัตรูที่สำคัญ คือ นก ซึ่งจะจิกผลแอปเปิลให้เกิดตำหนิเสียหาย ส่วนศัตรูอื่น ๆ เช่นโรคและแมลงก็มีบ้างแต่ยังไม่ทำความเสียหายมากนัก

การเก็บเกี่ยว

แอปเปิลที่ปลูกในประเทศไทยคือที่ดอยอ่างขาง จะเริ่มออกดอกประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และจะเริ่มเก็บผลได้ประมาณต้นเดือนมิถุนายน การเก็บต้องระมัดระวังให้มีการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด เพื่อ

ป้องกันการชอกช้ำเสียหายอันจะทำให้ราคาต่ำได้ หลังจากเก็บแล้วก็นำบรรจุหีบเพื่อส่งตลาดต่อไป

15 กรกฎาคม 2551

แก้วมังกร



การปลูกแก้วมังกร
ชนิดของแก้วมังกร1. พันธุ์เนื้อขาวเปลือกแดง ได้แก่ พันธุ์บ้านโป่งจังหวัดราชบุรี สวนจันทบุรี ฯลฯ 2. พันธุ์เนื้อแดงเปลือกแดง ได้แก่ โมน่าแดนซิส เอสคิวอินทเลนซิส คอสต้าลิเซนลิส โปลีไรซีส 3. พันธุ์ผิวทอง เนื้อขาว
การเลือกกิ่งพันธุ์1. ควรเป็นกิ่งพันธุ์ที่รู้จักกันแพร่หลาย และได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2. เจริญเติบโตได้ดี ปัญหาศัตรูพืชน้อย 3. ให้ผลจำนวนมาก รสชาดดีถูกใจผู้บริโภค และมีการทดลองปลูกได้ผลดีในหลายพื้นที่ และสามารถพัฒนาเป็นสินค้าส่งออกได้ 4. เลือกใช้กิ่งพันธุ์จากสวนที่ประสบความสำเร็จแบบมืออาชีพและมีมาตรฐานในการผลิตกิ่งพันธุ์


วิธีการปลูก

1. กำหนดระยะห่างระหว่างต้น 3.5 เมตร และระหว่างแถว 3 เมตร (หรือ 3 ม. X 4 ม.) 2. ขุดหลุมลึกประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อปักเสา โดยขุดให้กว้างกว่าเสาเล็กน้อย 3. นำเสาไม้ขนาดหน้ากว้าง 3 นิ้ว มาเสี้ยมให้ปลายแหลมเป็นลิ่ม ตอกลงกลางหลุมใช้ตะปู 4-5 ตัว ตอกบนเสาให้หัวตะปูโผล่ขึ้นมา ทั้งนี้ต้องตอกเสาให้โผล่พ้นหลุม10-12 เซนติเมตร 4. นำท่อปูนมาใส่ในหลุมที่มีเสาไม้ปักอยู่ให้ตั้งฉากกับพื้นดิน (เสาจะอยู่ภายในท่อปูน)ใส่ดินลงข้าง ๆ เสาปูนด้านนอกให้เต็มหลุม กลบให้แน่นพอควร 5. ผสมปูนซีเมนต์ หินและทรายลงในท่อปูนให้มิดหัวตะปูทิ้งไว้ 2 วัน ปูนซีเมนต์จะแข็งตัวและยึดติดกับเสา ทำให้เมื่อใส่น้ำในท่อเสาปูนจะไม่ร้อน นำไม้แดงมาต่อบนหัวเสาเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสเพื่อเป็นร้านให้แก้วมังกรเลื้อย 6. ขุดหลุมข้าง ๆ เสาทั้งสี่ด้าน ขนาดกว้าง 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ให้จุดศูนย์กลางหลุมห่างจากเสา 30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ที่ก้นหลุม 1 ช้อนแกง/หลุมและนำแกลบเก่ามาผสมปุ๋ยคอกอย่างละเท่า ๆ กันเทก้นหลุม ๆ ละครึ่งปี๊บ 7. ใช้มีดกรีดถุงพันธุ์ 2 ด้านตรงกัน ดึงพลาสติกแบะออกเป็น 2 ด้าน ประคองวัสดุปลูกที่ติดกับต้นแก้วมังกรใส่ตรงกลางหลุม (ระวังอย่าให้ต้นช้ำและรากขาด) โดยหันด้านแบนของต้นเข้าหาเสา และให้รากอยู่ตำแหน่งผิวดินไม่เกิน 5 เซนติเมตร จัดลำต้นให้เอนเข้าหาเสาเล็กน้อย เอาดินกลบ ใช้เชือกฟางมาผูกลำต้นชิดติดกับเสา 8. รดน้ำให้ชุ่มเสมอสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ถ้าอากาศร้อนจัดให้บังแดดด้วยทางมะพร้าวหรือกิ่งไม้ที่หาได้ง่าย ใช้สายยางฉีดน้ำลงไปในเสาปูนจนเกือบเต็ม 9. ใส่ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 ผสมกับภูไมต์ในอัตรา 4 : 1 มูลไก่ 1 ถ้วยต่อหลัก เดือนละ1 ครั้ง 10. นำจุลินทรีย์อีเอ็มมาผสมกากน้ำตาลและน้ำ รดเป็นระยะ ๆ เมื่อต้นแก้วมังกรแตกกิ่งออกมาเป็นจำนวนมากต้องตัดทิ้งให้หมด และปล่อยให้ต้นเจริญเติบโตจนถึงปลายหลักและขึ้นค้าง จัดกิ่งให้กระจายไปทั่วค้างเพื่อความสมดุล และมัดกิ่งให้อยู่กับร้าน 11. ต้นแก้วมังกรจะเริ่มออกดอกภายในระยะเวลา 8 เดือน ให้เริ่มใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 และเมื่อติดผลอ่อนกลีบดอกที่อยู่ปลายผลแก้วมังกรจะแห้งแต่ไม่ร่วง (เป็นที่อาศัยของมดดำ) ให้ดึงกลีบดอกที่แห้งออกเพื่อให้ผลโตเร็ว 12. เมื่อต้นแก้วมังกรติดผลให้เลือกผลที่สมบูรณ์ไว้ไม่เกินกิ่ง


วัสดุที่ใช้ปักชำ

1.ถุงดำ 2. แกลบดำ 3. ทรายหยาบ 4. ขุยมะพร้าว 5. กิ่งพันธุ์ควรเลือกกิ่งพันธุ์ที่มีอายุมากกว่า 1 ปีมีสีใบเข้ม สะอาด ไม่มีตำหนิ อ้วนและสมบูรณ์แข็งแรง ความยาว 25-40 เซนติเมตรหรือมากกว่า


การบำรุงรักษาระหว่างชำ

รดน้ำให้วัสดุชื้นอยู่เสมอ ระวังอย่าให้มีมดคันไฟ หากมีต้องรีบกำจัด เมื่อต้นพันธุ์อายุได้ 1-2 เดือน ควรใช้ปุ๋ยสูตร15-15-15 หรือ 16-16-16 (อัตรา 1 ช้อนแกง : น้ำ20 ลิตร) ให้รด 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง ใช้ 4-5 เดือน รากและยอดแก่ที่แข็งแรงสามารถย้ายปลูกได้
ศัตรูของผลแก้วมังกร มดคันไฟ เพลี้ยอ่อน (ตอมยอด) ด้วงค่อมทอง (แทะกินกลีบผล) หนอน (เจาะเปลือกและเนื้อ) เพลี้ยหอย (เกาะที่ปลายผล) พวกม้วนนักกล้าม (สันนิษฐานว่าทำให้ผิวของผลแก้วมังกรเป็นจุดคล้ายหนาม) หนอนแมลงวัน นกและหนู (เจาะทำลายผล) เพลี้ยไฟ(ผิวผลจะกร้านและตกกระลายพบน้อยมาก) หนอนบุ้ง เพลี้ยแป้ง ด้วงปีกแข็ง และต้องระวังมิให้สัตว์เลี้ยง เป็ด ไก่และห่านขุดคุ้ยโคนต้นได้ โรคพืชอื่น ๆ


ข้อแนะนำ

1. พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ - พันธุ์เวียดนาม เนื้อขาวเปลือกแดง ผลผลิต 2 ผล/กิโลกรัม - พันธุ์ไทย ผลผลิต 3-4 ผล/กิโลกรัม มีรสหวาน เมล็ดกรอบอร่อยเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค - พันธุ์ลูกผสม (เวียดนามกับไทย) มีรสหวานอมเปรี้ยว ผลมีขนาดกลาง 2. พันธุ์ที่พบเห็นในท้องตลาด คือพันธุ์เบอร์ 100 ของสวนบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีและพันธุ์เนื้อขาวเปลือกแดงของสวนจังหวัดชลบุรีและจันทบุรี
ตลาด/แหล่งจำหน่ายส่งตลาด อตก. ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ตลาดจตุจักร ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต บริษัทส่งออกผักและผลไม้ต่างประเทศ และตลาดผลไม้ทั่วไป


ข้อเสนอแนะ

1. ไม่ควรผลิตผลแก้วมังกรออกมามากจนเกินพอ และออกมาตรงกับผลไม้อื่น ๆ 2. แก้วมังกรเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพน่าจะมีภาษีมากกว่าผลไม้หลาย ๆ ชนิด ถ้าผลผลิตออกมาจำนวนมาก เช่น ทุเรียน เงาะและมะม่วง ราคาก็ถูกลงตามส่วน แก้วมังกรในประเทศไทยคาดว่าน่าจะมีแนวโน้มแบบชมพู่ คือมีราคาต่ำจนถึงราคาสูงมาก 3. ไม่ควรนำแก้วมังกรส่งตลาดในตอนบ่ายหรือเย็น ซึ่งผู้ซื้อกลับบ้านแล้ว อาจต้องขายแบบทิ้งทวนหรือเลหลังโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนค่าใช้จ่าย ไม่รู้ราคาในท้องตลาด 4. ราคาผลแก้วมังกรขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้าและช่วงเวลา โดยเฉพาะช่วงสินค้าขาดตลาดจะขายได้ราคาสูง ยังไม่รวมผลผลิตนอกฤดูกาล ช่วงปีใหม่และตรุษจีนราคาจะสูงกว่าที่คำนวณไว้ 5. ต้องยอมรับว่าผลผลิตบางส่วนขายไม่ได้หรือต้องเลขาย เพราะคุณภาพไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด


ข้อสังเกต

ผลตอบแทนจะมากขึ้น/ลดลง หรือขาดทุนไม่พอค่าใช้จ่าย ขึ้นอยู่กับ 1. การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของผลผลิตแก้วมังกร และราคาขายผลแก้วมังกรสูงขึ้น/ต่ำลง 2. ค่าใช้จ่ายแต่ละปีประมาณการไว้ลดลงหรือเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพในการดำเนินการและการบริหารสวน 3. ภัยธรรมชาติ และเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน 4. การเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง 5. รัฐไม่เอาใจใส่เท่าที่ควร


เงินลงทุน

ประมาณ 135,000 บาท/ 5 ไร่/ ปี (คำนวณเฉลี่ยจากระยะเวลาการปลูก 12 ปี) เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังนี้ (1) ต้นทุนคงที่ ค่าเสา ร้าน(ค้าง) ท่อน้ำจ่ายตามหลัก ต้นพันธุ์ ค่าเตรียมดินและหลุมปลูก (750 หลัก x 300 บาท) = 225,000 บาท ค่าอุปกรณ์ให้น้ำและเครื่องสูบน้ำ30,000 บาท ค่าปรับพื้นที่ (800 บาท x 5 ไร่) = 4,000 บาท ค่าถังพ่นสารกำจัดแมลงและอุปกรณ์ทำสวน10,000 บาท รวม 269,000 บาท (2) ค่าใช้จ่ายต่อปี ค่าใช้ที่ดิน 1,000 บาท ค่าปุ๋ยต่าง ๆ และวัสดุคลุมดิน 20,000 บาทสารกำจัดมดและแมลง3,000 บาท ดอกเบี้ย (สมมติคิด 6% ตลอด) 269,000 x6%= 16,140 บาท ฉะนั้นค่าลงทุนในข้อ (1)12 = 22,417 บาท ค่าปราบวัชพืช 5,050 บาท ?เฉลี่ยปีละ 269,000 ค่าสูบน้ำและไฟฟ้า 3,000 บาท ค่าแรง 54,000 บาทกันไว้เป็นค่าใช้จ่ายที่ยังไม่เกิดขึ้นและเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ 10,000 บาท รวม 134,607 บาท (ยังไม่รวมค่าเสื่อมสภาพและค่าบำรุงรักษาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ยานพาหนะขนส่ง อุปกรณ์สื่อสารและค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน เป็นต้น


รายได้

323,726 บาท/ ปี ก. เมื่อต้นแก้วมังกรมีอายุครบ 12 ปี คำนวณการเก็บเกี่ยวผลและขายได้ 11 ปี ๆ ละ 4,000 กิโลกรัม/ไร่ จากราคาขายกิโลกรัมละ 25 บาท (4,000 กิโลกรัม x 5 ไร่ x 11 ปี x 25 บาท) = 5,500,000 บาท ข. ค่าใช้จ่ายต่อปี 134,607 บาท (134,607 x 12 ปี) = 1,615,284 บาท ผลตอบแทนใน 12 ปี3,884,716 (ก. – ข.) เฉลี่ย 323,726 บาท/ปี=26,977 บาท/ เดือน


วัสดุ/อุปกรณ์

เสา (ท่อปูนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว ยาว 2 เมตร หรือมากกว่า จำนวน 750 หลักร้านหรือค้างไม้ (ทำจากไม้แดงเพราะทนทานได้ประมาณ 3-5 ปี) เสาไม้เนื้อแข็งขนาด 3 นิ้ว ยาว 1 เมตร ตะปูขนาด 2-3 นิ้ว จอบ เสียม กรรไกรตัดผล ทราย หิน ปูนซีเมนต์ท่อน้ำจ่ายตามหลัก ต้นพันธุ์ (ราคาตั้งแต่ 40 บาท 50 บาท 100 บาทขึ้นไป) มีด ถุงมุ้งเชือกฟาง อุปกรณ์ให้น้ำและเครื่องสูบน้ำ ถังพ่นสารกำจัดมด แมลง และอุปกรณ์ทำสวน ปุ๋ย วัสดุคลุมดิน สารกำจัดมด แมลง


แหล่งจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์

ไม้แดงและเสาท่อปูนจากร้านขายวัสดุก่อสร้าง และร้านขายไม้ก่อสร้าง (ถ้าไม่มีขนาดที่ต้องการอาจใช้วิธีสั่งทำ วัสดุอื่นจากร้านขายอุปกรณ์การเกษตร และกิ่งพันธุ์ตลาดนัดสวนจตุจักร งานเกษตรแฟร์ สวนใหญ่ ๆ ที่ทำกิ่งพันธุ์แก้วมังกรขาย

09 กรกฎาคม 2551

ประวัติลำไย



ลำไยมีชื่อเรียกพื้นบ้านว่า บ่าลำไย ชื่อภาษาอังกฤษว่าลองแกน (Longan) ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่าNephelium ,Canb.หรือEuphorialongana,Lamk.วงศ์Sapedadceaeทีน(Native)ในพื้นที่ราบต่ำของลังกาอินเดียตอนใต้ เบงกอลพม่าและจีนภาคใต้

เป็นพืชไม้ผลเขตร้อนและกึ่งร้อน

ประวัติลำไย
ลำไยเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งร้อนของเอเชีย ซึ่งอาจมีถิ่นกำเนิดในลังกาอินเดียพม่าหรือจีนแต่ที่พบหลักฐานที่ปรากฏในวรรณคดีของจีนในสมัยพระเจ้าเซ็งแทงของจีนเมื่อ ๑,๗๖๖ ปีก่อนคริสกาลและจากหนังสือRuYaของจีนเมื่อ ๑๑๐ ปีก่อนคริสตกาลได้มีการกล่าวถึงลำไยไว้แล้ว และชาวยุโรปได้เดินทางไปยังประเทศจีนเมื่อปีพ.ศ.๑๕๑๔ ก็เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับลำไยไว้ในปีพ.ศ.๑๕๘๕ แสดงว่าลำไยมีการปลูกในจีนที่มณฑลกวางตุ้งเสฉวนมีศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลฟูเกียน
ลำไยได้แพร่หลายเข้าไปในประเทศอินเดีย ลังกา พม่าและประเทศแถบเอเชียลังกาพม่าและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเข้าสู่ประเทศอเมริกาในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕
ในประเทศไทย ลำไยคงแพร่เข้ามาในประเทศพร้อมๆ กับประเทศในเขตนี้แต่ไม่ปรากฏหลักฐานหลักฐานที่พบเป็นต้นลำไยในสวนเก่าแก่ของ ร.อ.หลวงราญอริพล(เหรียญสรรพเสน) ที่ปลูกในตรอกจันทร์ถนนสาธุประดิษฐ์ใกล้วัดปริวาศในสมัยรัชกาลที่ ๕เป็นลำไยที่ขยายพันธุ์มาจากเมล็ดเพาะแสดงว่าลำไยมีในประเทศไทยมาก่อนแล้ว
และมีการพัฒนาพันธุ์ตามลำดับตามสภาพภูมิอากาศต่อมาพระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้นำลำไยจากกรุงเทพฯขึ้นมาขยายพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่จากนั้นก็ขยายพันธุ์สู่ภูมิภาคต่างๆในล้านนาโดยการเพาะเมล็ดจนเกิดการแปรพันธุ์(Mutation)เกิดพันธุ์ใหม่ตามสภาพคุณลักษณะที่ดีของภูมิอากาศที่เหมาะสมและเกื้อกูลต่อการเจริญเติบโตของลำไย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดลำพูนมีสภาพภูมิประเทศที่ดีในลุ่มแม่น้ำใหญ่หลายสาย จนเกิดลำไยต้นหมื่นที่บ้านหนองช้างคืน อำเภอเมืองลำพูน ซึ่งเก็บผลขายต้นเดียวได้ราคาเป็นหมื่น เมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๑ ผลิตผลต่อต้นได้ ๔๐-๕๐เข่งพัฒนาการของลำไยในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะที่จังหวัดลำพูนถ้านับจากการเสด็จกลับล้านนาครั้งแรกของพระราชชายา
เจ้าดารารัศมีเมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๗จนถึงลำไยต้นหมื่นที่หนองช้างคืนเมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๑ก็พัฒนามาร่วม๖๐ปีและถ้านับถึงปีปัจจุบัน มีการพัฒนาพันธุ์ร่วม๙๐ปีแล้วจนขณะนี้มีลำไยมากมายหลายพันธุ์และมีการปลูกมากถึง๑๕๗,๒๒๐ไร่

ประโยชน์ของลำไย
เปลือกของต้นมีสีน้ำตาลอ่อนหรือเทาและมีรสฝาดใช้ต้มเป็นยาหม้อแก้ท้องร่วง ลำต้นมีขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๓๐-๔๐ ฟุต เนื้อไม้มีสีแดงและแข็งสามารถใช้ทำเครื่องใช้ประดับบ้านได้
ผลลำไยมีเปลือกสีน้ำตาลอมเขียวภายในมีเนื้อขาวอมชมพูขาวอมเลืองแล้วแต่สายพันธุ์เนื้อลำไย สามารถ บริโภคสด บรรจุกระป๋อง ตากแห้งสามารถทำเป็นชาชงใช้ดื่ม เป็นยาบำรุงกำลังช่วยให้หลับสบายเจริญอาหาร

พันธุ์ลำไย
ลำไยปลูกในหลายประเทศที่สำคัญคือประเทศจีนมีการปลูกลำไยถึง ๒๖ พันธุ์ คือพันธุ์ที่ปลูกในมณฑล กวางตุ้ง ๑๒ สายพันธุ์ปลูกในประเทศไต้หวันอีก ๑๕ สายพันธุ์ปลูกในสหรัฐอเมริกามี ๑ สายพันธุ์คือ พันธุ์โคฮาลาพันธุ์ลำไยในประเทศไทย จำแนกออกตามลักษณะผลเนื้อเมล็ดและรสชาติแบ่งได้ ๕ พวก คือ
ลำไยกะโหลก เป็นพันธุ์ลำไยที่ให้ผลขนาดใหญ่มีเนื้อหนารสหวานมีหลายสายพันธุ์คือ
๑.สีชมพู ผลใหญ ่เนื้อหนา เมล็ดเล็ก เนื้อมีสีชมพู รสดีมากที่สุด
๒.ตลับนาค ผลใหญ่ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบแห้ง เปลือกบาง
๓.เบี้ยวเขียว ผลใหญ่กลมเบี้ยว เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ แต่พันธุ์หนักร่องเก่ง
๔.อีดอ ผลขนาดปานกลาง เมล็ดเล็ก รสหวาน แบ่งเป็น ๒ ชนิดคือ
- อีดอยอดแดง ใบอ่อนมีสีแดง
- อีดอยอดเขียว ใบอ่อนมีสีเขียว
๕.อีแดง สีเปลือกของผลค่อนข้างแดง เป็นพันธุ์กลาง กิ่งเปราะหักง่าย ผลกลมใหญ ่เมล็ดใหญ่ รสหวานแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
- อีแดง (อีแดงเปลือกหนา) มีใบป้อมใหญ่ผลใหญ่
- อีแดง (อีแดงเปลือกบาง) ใบยาวผลเล็กกว่าอีแดงเปลือกหนา
๖.อีดำ ผลใหญ ่ใบดำ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ แบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ
- อีแห้วยอดแดง เมล็ดปานกลาง
- อีแห้วยอดขาว ผลกลมใหญ่ หัวเบี้ยว เนื้อกรอบ ไม่หวาน

คุณค่าทางอาหารของลำไยกองวิทยาศาสตร์กรมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้ทำการวิเคราะห์ส่วนปรักอบของลำไยปรากฏผลว่า
๑.ลำไยสดทั่วไปประกอบด้วยน้ำ๘๑.๑%คาร์โบไฮเดรต๑๖.๙๘%โปรตีน๐.๙๗%เถ้า๐.๕๖%กาก๐.๒๘%และไขมัน ๐.๑๑%
๒.ในลำไยสด๑๐๐กรัมจะมีค่าความร้อน๗๒.๘แคลอรีและมีวิตามิน๖๙.๒มิลลิกรัมแคลเซียม๕๗มิลลิกรัมฟอสฟอรัส๓๕.๑๗มิลลิกรัมและธาตุเหล็ก๐.๓๕มิลลิกรัม
๓.ลำไยแห้งประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต ๖๙.๐๖%น้ำ ๒๑.๒๗%โปรตีน ๔.๖๑%เถ้า ๓.๓๓%กาก ๑.๕๐%และไขมัน ๐.๑๗๑%
๔.ลำไยแห้ง ๑๐๐กรัมจะมีค่าความร้อน ๒๙๖.๑แคลอรี แคลเซียม ๓๒.๐๕มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส ๑๕๐.๕มิลลิกรัมโซเดียม ๔.๗๘มิลลิกรัม เหล็ก ๒.๘๕มิลลิกรัม โพแทสเซียม ๑๓๙๐.๓มิลลิกรัม กรดแฟนโทซินิค ๐.๗๒มิลลิกรัมวิตามินบี ๑๒จำนวน ๑.๐๘มิลลิกรัม
ลำไยกระดูก เป็นพันธุ์พื้นเมือง ทรงพุ่มกว้างใบหนาทึบ ผลเล็กมีน้ำมาก เนื้อน้อยไม่หวาน มีน้ำตาลประมาณ ๑๓.๗๕% ขึ้นได้ทั่วไปปลูกง่าย เหลือให้เห็นน้อย เพราะไม่นิยมปลูก ไม่มีราคา
ลำไยธรรมดา ผลปานกลาง เนื้อหนากว่าลำไยพันธุ์กระดูก เนื้อกรอบบางมีน้ำมาก ให้ผลดก
ลำไยสายน้ำผึ้ง ลักษณะคล้ายลำไยธรรมดา แต่เนื้อมีสีเหลืองอ่อน เนื้อมีรสดี หอมกรอบ เมล็ดเล็ก
ลำไยเถาหรือลำไยเครือ มีลำต้นเลื้อยคล้ายเถาวัลย์ นิยมปลูกไว้ประดับมากกว่าปลูกไว้รับประทาน ชอบขึ้นตามป่าแถบภูเขาบรรทัด ภูเขาดงเล็ก ลำต้นไม่มีแก่นจึงพันเข้ากับรั้วหรือหลัก

01 กรกฎาคม 2551

พันธุ์เงาะ


พันธุ์เงาะที่ปลูกในประเทศมีหลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าในปัจจุบันได้แก่ พันธุ์โรงเรียน และพันธุ์สีชมพู ซึ่งเงาะทั้งสองพันธุ์นี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สรุปได้ดังนี้


1. เงาะโรงเรียน เป็นเงาะที่มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด ราคาสูงกว่าเงาะพันธุ์สีชมพู มีผิวสีแดงเข้ม โคนขนมีสีแดง ปลายขนสีเขียว เนื้อหนาแห้ง และล่อนออกจากเมล็ดได้ง่าย เป็นพันธุ์ที่ตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดีแต่มีข้อเสียคือ อ่อนแอต่อการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ ในกรณีที่ขาด น้ำในช่วงของผลอ่อน ผลจะแตกหรือร่วงหลนเสียหายได้ มากกว่าเงาะพันธุ์สีชมพู


2. พันธุ์สีชมพู เป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย มีการเจริญเติบโตดี ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพฟ้า อากาศ ให้ผลดก มีผิวและขนเป็นสีชมพูสด เนื้อหนา ฉ่ำน้ำ ให้ผลดก แต่มีข้อเสียคือ บอบช้ำง่าย ไม่ทนทานต่อการขนส่งรวมทั้งไม่เป็นต้องการของตลาดบาง แห่งจึงทำให้เงาะพันธุ์สีชมพูมีราคาค่อนข้างต่ำการตัดสินใจ เลือกปลูกเงาะพันธุ์ใดนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของเกษตกร และสภาพพื้นที่โดยเฉพาะในปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ และตลาดเป็นสำคัญ